วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น. นายบรรลือ สัมฤทธิ์จินตนา ปลัดจังหวัดยโสธร เป็นประธาน เปิดจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปบทเรียนการดำเนินโครงการสานพลังมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนนในสถานประกอบการในพื้นที่ โดยมีนายสรวุฒิ ปาลวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยโสธร นางมยุรี สงวนนาม ประชาสัมพันธ์จังหวัดจังหวัดยโสธร หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารสถานประกอบการและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร อำเภอเมืองฯ จังหวัดยโสธร
จากปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ มีแนวโน้มของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บยังคงสูงขึ้น โดยค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2565 – 2570 ได้กำหนดให้ลดอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรแสนคนให้เหลือ 12 คน ภายในปี พ.ศ.2570 โดยในแผนดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญ คือการลดการอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกประเภท โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสำคัญอย่างผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ที่มีโอกาสจะส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสในภาพรวมของประเทศ สามารถลดลงตามเป้าหมายได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดยโสธร ยังมีแนวโน้มที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลในปี พ.ศ.2565 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 140 คน และในปี พ.ศ.2566 มีค่าเป้าหมายกำหนดให้มีผู้เสียชีวิตไม่เกิน จำนวน 111 คน แต่พบว่าข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนตุลาคม 2566 รวม 10 เดือน มีจำนวนผู้เสียชีวิตแล้ว 100 คน
สำหรับครั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดยโสธร ได้กำหนดจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตามโครงการสานพลังมาตรการองค์กร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อความปลอดภัยทางถนนในสถานประกอบการ ยกระดับมาตรการองค์กร สร้างความปลอดภัยทางถนนในองค์กรภาคเอกชน สถานประกอบการในพื้นที่ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปบทเรียนการดำเนินโครงการสานพลังมาตรการองค์กร เพื่อความปลอดภัยทางถนนในสถานประกอบการ โดยมีสถานประกอบการนำร่อง จำนวน 7 แห่งประกอบด้วย โรงพยาบาลนายแพทย์หาญ / บริษัท บิ๊กแคทมาร์ท จำกัด /บริษัท โตโยต้ายโสธร จำกัด /บริษัท เอก-ชัยดิสทริบิวชั่นชิสเท็ม จำกัด โลตัส สาขายโสธร .บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โรงงานตัดแต่งและแปรรูปสุกร /บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โรงชำแหละสุกรยโสธร และบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เพื่อวิพากษ์ ให้ข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการในพื้นที่ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 25 แห่ง เข้าร่วมสังเกตการณ์ อีกด้วย